การซ้ำคำในภาษาจีนคืออะไร ทำไมคนเริ่มเรียนจีนต้องรู้?
ถ้าพูดถึงเรื่องความยากในการเรียนภาษาจีนแล้ว นอกจากคำศัพท์แล้วนั้น เชื่อว่าสิ่งที่ยากรองลงมาในความคิดของเพื่อนๆ คงเป็นเรื่องไวยากรณ์จีนแน่นอน บทความในวันนี้จึงได้มีการนำเสนออีกหนึ่งหลักไวยากรณ์จีนที่คนเริ่มเรียนภาษาจีนใหม่ๆ อาจจะไม่ค่อยคุ้นชิน แต่สามารถพบเจอได้บ่อยๆ อย่างเรื่องการซ้ำคำ ซึ่งถ้าเพื่อนๆ อยากรู้ว่าการซำ้คำคืออะไร ต้องใช้แบบไหน มีความสำคัญอย่างไรต้องอ่านบทความนี้เลย
สารบัญ
การซ้ำคำคืออะไร
การซ้ำคำในภาษาจีน (重叠词) ก็คือการนำคำใดคำหนึ่งมากล่าวซ้ำติดกัน 2 ครั้ง การซ้ำคำนั้นสามารถใช้กับคำศัพท์ได้มากกว่าหนึ่งประเภท ทำให้จุดประสงค์และรูปแบบการใช้จึงแตกต่างกันออกไปตามแต่ละชนิดของคำ ซึ่งการซ้ำคำในภาษาจีนนี้ถือเป็นหนึ่งในหลักไวยากรณ์พื้นฐานที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และมักใช้ในภาษาพูดเป็นส่วนใหญ่ โดยภายในบทความนี้จะกล่าวถึงการซ้ำคำในคำกริยาและคุณศัพท์เพียงเท่านั้น
และเพื่อให้เพื่อนๆ สามารถอ่านเนื้อหาและเข้าใจรูปแบบการซ้ำคำได้ดียิ่งขึ้น ในบทความนี้จะมีการใช้ A แทนคำศัพท์พยางค์เดียว หรือพยางค์แรกของคำศัพท์สองพยางค์ และจะใช้ B แทนพยางค์ที่สองของคำศัพท์สองพยางค์
ตัวอย่าง A = 吃 → AA = 吃吃
AB = 漂亮 → AABB = 漂漂亮亮
____________________________________________________________________________
การซ้ำคำกริยา (动词重叠)
เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนคงสงสัยกันใช่ไหม ว่าทำไมเราถึงต้องซ้ำคำกริยากัน จริงๆ แล้วการซ้ำคำกริยานั้นสามารถมีจุดมุ่งหมายในการใช้ได้แตกต่างกันออกไปมากมาย ซึ่งอาจมากได้ถึง 7 กรณีเลย โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
- ใช้เพื่อบ่งบอกว่าการกระทำนั้นๆ ใช้ระยะเวลาไม่นาน
ตัวอย่าง 你先在这里等等,他马上就要出来了。
(เธอรอตรงนี้ก่อนแป๊บนึง เดี๋ยวเขาก็ออกมาแล้ว)
- ใช้เพื่อบ่งบอกว่ามีความถี่ของการกระทำนั้นๆ ไม่มาก
ตัวอย่าง 你闻闻这个有草莓的味道吗?
(เธอดมๆ หน่อยสิว่าอันนี้มีกลิ่นสตรอว์เบอร์รีไหม)
- ใช้เพื่อบ่งบอกว่าการกระทำนั้นๆ เกิดขึ้นถี่มาก หรือมีระยะเวลานาน
ตัวอย่าง 我想了想,我们还是分手吧。
(ฉันคิดๆ ดูแล้ว พวกเราเลิกกันจะดีกว่า)
- ใช้เพื่อบ่งบอกว่าการกระทำนั้นๆ เป็นเรื่องง่ายๆ และสามารถทำได้บ่อยๆ
ตัวอย่าง 我平时喜欢听听音乐,看看电影。
(ปกติแล้วฉันชอบฟังเพลง และดูหนัง)
- ใช้เพื่อแสดงความนิ่มนวล และเป็นกันเอง มักใช้ในประโยคขอร้อง
ตัวอย่าง 你能帮帮我吗?
(เธอช่วยฉันสักหน่อยได้ไหม)
- ใช้เพื่อแสดงการเชิญชวนให้ทำ หรือลิ้มลองสิ่งต่างๆ
ตัวอย่าง 你来听听他唱的歌,好听极了!
(เธอลองมาฟังเพลงที่เขาร้องสิ เพราะมาเลยนะ)
- ใช้เพื่อแสดงความเน้นย้ำ
ตัวอย่าง 你看看你自己了做什么!
(เธอดูสิว่าเธอทำอะไรลงไป)
หลังจากที่รู้ว่าทำไมเราถึงต้องซ้ำคำกริยากันแล้ว มาต่อกันที่รูปแบบการซ้ำคำกัน ซึ่งการซ้ำคำกริยานั้นถือว่ามีรูปแบบการใช้ที่เยอะและหลากหลายมาก โดยเราสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามจำนวนพยางค์ของคำได้ดังนี้
- การซ้ำคำกริยาในกริยาพยางค์เดียว
กริยาพยางค์เดียว ก็คือคำกริยาที่มีตัวอักษรจีนเพียงตัวเดียว เช่น 吃、看、听 เป็นต้น โดยคำกริยาพยางค์เดียวนั้นมักจะมีรูปแบบที่ใช้กันอยู่บ่อยๆ 6 แบบดังนี้
1.1 รูปแบบ AA
การซ้ำคำกริยาในรูปแบบนี้ มักใช้กับเหตุการณ์ที่เป็นปัจจุบัน หรือยังไม่เกิดขึ้นตามแต่สถานการณ์ที่ผู้พูดกำลังจะสื่อถึง และในบางครั้งอาจใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็ได้เช่นกัน
ตัวอย่าง 问 → 问问
我有件事儿想问问你。
ฉันมีเรื่องอยากจะถามเธอหน่อย
坐 → 坐坐
你们来这里坐坐吧。
พวกเธอมานั่งตรงนี้สิ
1.2 รูปแบบ A一A
การซ้ำคำกริยาในรูปแบบนี้ มักใช้กับเหตุการณ์ที่เป็นปัจจุบัน หรือยังไม่เกิดขึ้นตามแต่สถานการณ์ที่ผู้พูดกำลังจะสื่อถึง และในบางครั้งอาจใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็ได้เช่นกัน
ตัวอย่าง 写 → 写一写
老师让我们写一写日记。
(คุณครูให้พวกเราเขียนไดอารี่)
玩 → 玩一玩
这周末你想去哪里玩一玩吗?
(สุดสัปดาห์นี้เธออยากไปเที่ยวที่ไหนบ้างไหม)
1.3 รูปแบบ A了A
การซ้ำคำกริยาในรูปแบบนี้ มักใช้กับเหตุการณ์ที่ได้จบลงแล้วในอดีต
ตัวอย่าง 尝 → 尝了尝
这道菜我尝了尝,觉得味道很不错。
(อาหารจานนี้ฉันลองชิมดูแล้ว รสชาติไม่เลวเลย)
敲 → 敲了敲
她敲了敲门,却没有人来开门。
(หล่อนเคาะประตูแล้ว แต่ไม่มีใครมาเปิดประตูให้)
1.4 รูปแบบ A了一A
การซ้ำคำกริยาในรูปแบบนี้ มักใช้กับเหตุการณ์ที่ได้จบลงแล้วในอดีต
ตัวอย่าง 笑 → 笑了一笑
爷爷开心地笑了一笑。
(คุณปู่ยิ้มอย่างมีความสุข)
试 → 试了一试
我听说这个办法不错,也试了一试,确实有效。
(ฉันได้ยินว่าวิธีนี้ไม่เลวเลย ก็เลยลองๆ ดู ปรากฎว่าได้ผลจริงๆ )
1.5 รูปแบบ A着A着
การซ้ำคำกริยาในรูปแบบนี้ มักใช้กับเหตุการณ์ที่เป็นปัจจุบัน บ่งบอกว่าการกระทำนั้นๆ กำลังดำเนินอยู่
ตัวอย่าง 看 → 看着看着
他看书看着看着就睡着了。
(เขาอ่านหนังสือจนเผลอหลับไปแล้ว)
笑 → 笑着笑着
她笑着笑着,就哭了起来。
(หล่อนยิ้มอยู่ดีๆ ก็ร้องไห้ออกมา)
1.6 รูปแบบ A来A去
การซ้ำคำกริยาในรูปแบบนี้ มักใช้กับการบ่งบอกว่าการกระทำนั้นๆ มีจำนวนครั้งมาก ความถี่ในการเกิดขึ้นสูง และมีระยะเวลาค่อนข้างนาน
ตัวอย่าง 走 → 走来走去
她急得走来走去。
(เธอร้อนใจจนเดินไปเดินมาไม่หยุด)
说 → 说来说去
说来说去,你还是不相信我。
(พูดไปพูดมา เธอก็ยังไม่เชื่อฉันอยู่ดี)
- การซ้ำคำกริยาในกริยาสองพยางค์
กริยาสองพยางค์ คือคำกริยาที่ประกอบไปด้วยอักษรจีน 2 ตัว เช่น 休息、讨论、学习 เป็นต้น โดยคำกริยาพยางค์เดียวนั้นมักจะมีรูปแบบที่ใช้กันอยู่บ่อยๆ 4 แบบดังนี้
2.1 รูปแบบ ABAB
การซ้ำคำกริยาในรูปแบบนี้ มักใช้กับเหตุการณ์ที่เป็นปัจจุบัน หรือยังไม่เกิดขึ้นตามแต่สถานการณ์ที่ผู้พูดกำลังจะสื่อถึง และในบางครั้งอาจใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็ได้เช่นกัน
ตัวอย่าง 打扫 → 打扫打扫
她每天都要做做饭,打扫打扫房间。
(หล่อนต้องทำอาหาร ทำความสะอาดบ้านทุกวัน)
了解 → 了解了解
我想了解了解中国的历史。
(ฉันอยากจะเข้าใจประวัติศาสตร์จีน)
2.2 รูปแบบ AB了AB
การซ้ำคำกริยาในรูปแบบนี้ มักใช้กับเหตุการณ์ที่ได้จบลงแล้วในอดีต
ตัวอย่าง 讨论 → 讨论了讨论
我跟朋友讨论了讨论,最后得出这个结果。
(ฉันปรึกษากันกับเพื่อนแล้ว สุดท้ายได้ผลลัพธ์เป็นอย่างนี้)
打听 → 打听了打听
他帮我打听了打听那个人的消息。
(เขาช่วยสอบถามข่าวคราวของคนๆ นั้นให้ฉัน)
2.3 รูปแบบ AAB
การซ้ำคำกริยาในรูปแบบนี้ มักใช้กับกริยา 离合词 ที่เหตุการณ์กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน หรือยังไม่เกิดขึ้น และอาจใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็ได้เช่นกัน
ตัวอย่าง 散步 → 散散步
我想去公园散散步。
(ฉันอยากไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะจัง)
聊天 → 聊聊天
我平时也会跟他聊聊天。
(ปกติแล้วฉันก็คุยกับเขาบ่อยๆ)
2.4 รูปแบบ A了AB
การซ้ำคำกริยาในรูปแบบนี้ มักใช้กับกริยา 离合词 ที่เหตุการณ์ได้จบลงแล้วในอดีต
ตัวอย่าง 点头 → 点了点头
她点了点头,说自己明白了。
(หล่อนพยักหน้า แล้วบอกว่าตัวเองเข้าใจแล้ว)
握手 → 握了握手
他介绍完自己后,就跟我握了握手。
(เขาแนะนำตัวเองเสร็จแล้ว ก็จับมือทักทายกับฉัน)
ข้อควรระวัง ในบางสถานการณ์จะไม่สามารถใช้การซ้ำคำกริยาในภาษาจีนได้ โดยจะแบ่งเป็นกรณีต่างๆ ดังนี้
- คำกริยาที่ไม่สามารถซ้ำคำได้
- คำกริยาประเภทที่เกิดได้แค่ครั้งเดียว : 出生、死、开始、结束
- คำกริยาที่บ่งบอกความรู้สึก : 喜欢、恨、担心、知道
- ในประโยคที่มีการซ้ำคำกริยา กรรมในประโยคไม่สามารถเป็นกรรมที่ระบุจำนวนได้
เช่น 你看看一本书。 (X)
(เธอดูหนังสือเล่มหนึ่งสิ)
你看看这本书。 (√)
(เธอดูหนังสือเล่มนี้สิ)
- ในประโยคที่มีการกระทำ 2 อย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่สามารถซ้ำคำได้
เช่น 他一边吃吃饭,一边看看电视。 (X)
他一边吃饭,一边看电视。 (√)
(เขากินข้าวไป ดูทีวีไป)
- เมื่อในประโยคมีการซ้ำคำกริยา กริยานั้นๆ จะไม่สามารถมีบทเสริมกริยาตามหลังได้อีก
เช่น 你看看清楚他是谁。 (X)
你看清楚他是谁。 (√)
(เธอดูให้ชัดสิว่าเขาคือใคร)
你看看他是谁。 (√)
(เธอลองดูสิว่าเขาคือใคร)
- เมื่อกริยานั้นๆ ทำหน้าที่เป็นส่วนขยาย จะไม่สามารถซ้ำคำได้
เช่น 他写写的字特别好看。 (X)
他写的字特别好看。 (√)
(ตัวหนังสือที่เขาเขียนสวยมาก)
- ถ้าในประโยคมีการใช้ กริยา+一下儿 แล้ว คำกริยานั้นๆ จะไม่สามารถซ้ำคำได้อีก
เช่น 你看看一下这本书。 (X)
你看一下这本书。 (√)
你看看这本书。 (√)
(เธอดูหนังสือเล่มนี้สิ)
____________________________________________________________________________
การซ้ำคำคุณศัพท์ (形容词重叠)
การซ้ำคำคุณศัพท์ในภาษาจีนนั้นจะมีรูปแบบ และการใช้ที่แตกต่างไปจากของการซ้ำคำกริยา การซ้ำคำคุณศัพท์นั้น ส่วนใหญ่แล้วมีเพื่อบ่งบอกระดับความมาก หรือความเข้มข้น ทำหน้าที่คล้ายกับ 很、非常
เช่น 漂亮 สวย
漂漂亮亮 สวยๆ งามๆ
โดยการซ้ำคำคุณศัพท์ในภาษาจีนนั้นถึงแม้จะไม่ได้มีรูปแบบการใช้ที่มากมายเหมือนกับคำกริยา แต่เราก็ยังคงสามารถแบ่งรูปแบบการใช้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามจำนวนพยางค์ของคำได้เหมือนเดิมดังนี้
- การซ้ำคำคุณศัพท์ในคุณศัพท์พยางค์เดียว
1.1 รูปแบบ AA(儿)
คำคุณศัพท์พยางค์เดียว ก็คือคำคุณศัพท์ที่มีตัวอักษรจีนเพียงตัวเดียว เช่น 大、高、冷、慢 ซึ่งเราสามารถมี 儿 หรือไม่มีตามหลังคำซ้ำคุณศัพท์ได้อีกด้วย
ตัวอย่าง 大 → 大大
小狗用大大的眼睛看着我。
(สุนัขตัวน้อยมองมาที่ใช้ด้วยตาโตๆ คู่นั้น)
轻 → 轻轻
他轻轻地把门关上。
(เขาปิดประตูเบาๆ)
1.2 รูปแบบ ABB
คำคุณศัพท์ในประเภทนี้ ถึงแม้จะถือได้ว่าเป็นประเภทคำคุณศัพท์พยางค์เดียว แต่ในเรื่องของหลักการใช้กลับต่างออกไป เนื่องจากส่วนที่มีการซ้ำคำนั้น คือคำศัพท์ที่เติมเข้าไปในด้านหลัง เพื่อขยายคำคุณศัพท์ในด้านหน้าให้ชัดขึ้น
ตัวอย่าง 慢 → 慢悠悠
她慢悠悠地走进教室。
(หล่อนเดินเข้าห้องเรียนไปอย่างช้าๆ สบายๆ)
亮 → 亮晶晶
我喜欢她那双亮晶晶的眼睛。
(ฉันชอบดวงตาที่สว่างเป็นประกายคู่นั้นของหล่อน)
- การซ้ำคำคุณศัพท์ในคุณศัพท์สองพยางค์
2.1 รูปแบบ AABB
คำคุณศัพท์ที่มีรูปแบบการซ้ำคำรูปแบบนี้ จะเป็นคำคุณศัพท์สองพยางค์ทั่วๆ ไปอย่าง 漂亮、开心、认真
ตัวอย่าง 清楚 → 清清楚楚
他能清清楚楚地看到外面发生的事情。
(เขาสามารถเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นข้างนอกได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง)
简单 → 简简单单
这个简简单单的方法可以帮你解决问题。
(วิธีธรรมดาๆ นี้สามารถช่วยเธอแก้ปัญหาได้นะ)
2.2 รูปแบบ ABAB
คำคุณศัพท์ที่มีการซ้ำคำในรูปแบบนี้ มักจะเป็นคำคุณศัพท์ที่มีความหมายเชิงพรรณนา เช่น 雪白 ที่มากจาก 像雪一样白 (ขาวราวหิมะ)、火热 ที่มาจาก 像火一样热
ตัวอย่าง 鲜红 → 鲜红鲜红
妈妈喜欢鲜红鲜红的玫瑰。
(แม่ชอบกุหลาบสีแดงสด)
飞快 → 飞快飞快
小明飞快飞快地往那边跑去了。
(เสี่ยวหมิงวิ่งเร็วจนเหมือนบินไปทางนั้นแล้ว)
2.3 รูปแบบ A里AB
คำคุณศัพท์ที่มีการซ้ำคำในรูปแบบนี้ มักจะเป็นคำศัพท์ที่มีความหมายในเชิงลบเท่านั้น เช่น 小气 (ตระหนี่)、古怪 (แปลกพิลึก)、糊涂 (เลอะเลือน)
ตัวอย่าง 啰嗦 → 啰里啰嗦
他这个人说话总是啰里啰嗦,没完没了。
(เขาเป็นคนชอบพูดอะไรเยิ่นเย้อ ไม่จบไม่สิ้น)
慌张 → 慌里慌张
看到他慌里慌张的样子,我就知道肯定出大事了。
(เห็นท่าทีตื่นตระหนกของเขา ฉันก็รู้แล้วว่าต้องเกิดเรื่องใหญ่แน่)
ข้อควรระวัง ในบางสถานการณ์จะไม่สามารถใช้การซ้ำคำคุณศัพท์ในภาษาจีนได้ โดยจะแบ่งเป็นกรณีต่างๆ ดังนี้
- คำคุณศัพท์ที่เป็นภาษาทางการ ไม่สามารถซ้ำคำได้
เช่น 美丽、清洁、漫长
- ไม่สามารถใช้ 很 กับการซ้ำคำคุณศัพท์ได้
เช่น 这是一幅很漂漂亮亮的风景画。 (X)
这是一幅漂漂亮亮的风景画。 (√)
这是一幅很漂亮的风景画。 (√)
(นี่คือภาพวาดวิวทิวทัศน์ที่สวยมาก)
- ไม่สามารถใช้ 不 นำหน้าคำซ้ำคุณศัพท์ได้
เช่น 她喜欢吃不甜甜的水果。 (X)
(หล่อนชอบกินผลไม้รสไม่หวาน)
她不喜欢吃甜甜的水果。 (√)
(หล่อนไม่ชอบกินผลไม้ที่มีรสหวาน)
หลังจากที่อ่านบทความนี้จบแล้ว เชื่อว่าเพื่อนๆ คงเข้าใจการใช้คำซ้ำคำในภาษาจีนกันแล้วใช่ไหมคะ ถึงแม้ว่าการซ้ำคำจะไม่ได้เป็นไวยากรณ์ที่ยากอะไร แต่ก็ชวนให้สับสนได้ง่ายๆ ดังนั้นเพื่อนก็อย่าลืมไปฝึกใช้ และอ่านทบทวนบ่อยๆ นะ
แน่นอนว่านอกจากคำกริยา และคำคุณศัพท์แล้ว เรายังสามารถซ้ำคำประเภทอื่นๆ อย่างคำนาม คำกริยาวิเศษณ์ หรือลักษณนามได้อีกเช่นกัน ซึ่งหากเพื่อนๆ อยากรู้ว่าคำเหล่านี้จะมีกฎการใช้แบบไหน หรือใช้เมื่อไหร่แล้ว สามารถเรียนเพิ่มเติมได้ในคอร์ส Chinese Buffet เลย รับรองว่าไม่เพียงแต่จะช่วยให้เข้าใจเรื่องไวยากรณ์จีนอื่นๆ เพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ใช้ภาษาจีนได้คล่องขึ้นอีกด้วยแน่นอน