อะไรกันนะ? คณิต 2 วิชาสามัญ คืออะไร เตรียมตัวยังไงดี

อะไรกันนะ? คณิต 2 วิชาสามัญ คืออะไร เตรียมตัวยังไงดี

ใกล้สอบ 9 วิชาสามัญ แล้ว ใครที่สมัครสอบคณิต 2 ไป แต่ยังไม่รู้ว่าข้อสอบออกอะไรบ้าง มีเทคนิคการเก็บคะแนนอย่างไร พี่ๆ โอเพ่นดูเรียนวิเคราะห์ข้อสอบพร้อมแนะนำวิธีการเตรียมตัวให้น้องๆ แล้วครับ

ความแตกต่างของคณิต 1 กับ คณิต 2 คือ ความแตกต่างของเนื้อหาที่ออกสอบ

คณิต 1 : คณิตพื้นฐาน + คณิตเพิ่มเติม(คณิตเสริม) แต่เนื้อหาเน้นไปทางคณิตเพิ่มเติมมากกว่า

คณิต 2 : คณิตพื้นฐาน(คณิตหลัก)

จำนวนและเวลาในการสอบ

 

จำนวนข้อสอบ 30 ข้อ
ลักษณะข้อสอบ ช้อยส์ 5 ตัวเลือก
คะแนน

ข้อ 1 - 10 ข้อละ 2 คะแนน
ข้อ 11 - 30 ข้อละ 4 คะแนน
รวม 100 คะแนน

เวลาในการสอบ 90 นาที

จะเห็นว่าลักษณะข้อสอบ จำนวน เวลา และคะแนนเหมือนกันกับคณิต 1 ทุกประการ ซึ่งเวลาเฉลี่ยในการทำข้อสอบ ข้อละ 3 นาที เท่านั้น!! ในคณิต 1 เราถือว่าเป็นข้อสอบ speed test เพราะข้อละ 3 นาที นั้นน้อยมาก จนต้องมีเทคนิคพิเศษช่วยในการทำข้อสอบให้ทันเวลา แต่สำหรับคณิต 2 ข้อละ 3 นาที จะเพียงพอหรือไม่ เรามาดูเนื้อหาในหัวข้อถัดไปกันครับ

 

 

-----------*---*---*---*---*---*---*---*---*---*---*---*---*---*---*-----------

 

เนื้อหาที่ออกสอบ

 

สทศ. ประกาศหัวข้อของเนื้อหาที่สอบมาทั้งหมด 4 หัวข้อใหญ่ ดังนี้

  1. จำนวนจริงและการดำเนินการ
  2. การวัด
  3. พีชคณิต
  4. ความน่าจะเป็น

ในเมื่อคะแนนคณิต 2 เอาไว้ใช้ยื่นคณะสายศิลป์ เนื้อหาก็ต้องออกแค่คณิตศาสตร์ที่สายศิลป์เรียนกันนั่นแหละครับ ใช่แล้ว เฉพาะคณิตศาสตร์พื้นฐานนั่นเอง ไม่ออกเนื้อหาคณิตศาสตร์เพิ่มเติมครับ

เอ้า! แต่คณิตพื้นฯ ที่เรียนกันมันมีตั้งหลายบท ทำไม สทศ. ประกาศแค่ 4 หัวข้อ เองล่ะ เรามาดูรายละเอียดของแต่ละหัวข้อกันดีกว่าครับ

 

เนื้อหาในหัวข้อนี้มีทั้งหมด 3 บท คือ

  • เซต ออกโจทย์หาจำนวนสมาชิกของเซต โจทย์สถานการณ์หาจำนวนคน แค่นั้น ที่เหลือคือเรื่องการดำเนินการ ยูเนี่ยน อินเตอร์เซคชัน คอมพลีเมนท์ การลบเซต เอาไปผสมกับโจทย์อื่นๆ เช่น แก้อสมการ 2 เซต แล้วมาอินเตอร์เซคกัน เป็นต้น
  • ระบบจำนวนจริง การแก้สมการและอสมการ เน้นเบสิคการแก้สมการและอสมการ แต่ออกเกือบครบทุกแบบ สมการเชิงเส้น สมการกำลังสอง สมการค่าสัมบูรณ์ ระบบสมการ อสมการเชิงเส้น อสมการกำลังสอง แต่ยังไม่เจออสมการค่าสัมบูรณ์
  • ความสัมพันธ์และฟังก์ชัน ออกแค่พื้นฐานเช่นกัน ดูว่าความสัมพันธ์ไหนเป็นฟังก์ชันหรือไม่ โดเมน เรนจ์ง่ายๆ เท่านั้น

 

หัวข้อนี้หลักๆ มีแค่อัตราส่วนตรีโกณมิติเท่านั้น แต่มีอีกส่วนที่ต้องทบทวนไว้ใช้ด้วยคือพื้นฐานเรขาคณิต จึงนับเป็น 2 บท คือ

  • พื้นฐานเรขาคณิต เนื้อหา ม.ต้น ใช้ช่วยในการแก้โจทย์เรื่องอื่นๆ สมการเส้นตรง ความชัน จุดตัดแกน และพาราโบลา
  • อัตราส่วนตรีโกณมิติ เนื้อหาเหมือนกับตรีโกณ ม.3 ทุกประการ พีทาโกรัส sin cos tan รูปสามเหลี่ยมมุมฉาก แต่โจทย์อาจมีความซับซ้อนพอสมควร เช่น ต้องลากเส้นเชื่อมจุดเพิ่มให้เกิดมุมฉาก เป็นต้น

 

หัวข้อนี้ถือว่าสำคัญ เพราะรวมๆ แล้วออกข้อสอบเยอะ มีทั้งหมด 2 บท คือ

  • เลขยกกำลัง จัดรูปเลขยกกำลัง เปรียบเทียบค่า แก้สมการเลขยกกำลัง พยายามเก็บคะแนนให้ได้เพราะไม่ซับซ้อนเท่าไร
  • ลำดับและอนุกรม ออกข้อสอบเยอะ และเป็นบทที่หลายๆ โรงเรียนสอนตอน ม.6 ซึ่งทำให้เรายังจำเนื้อหาได้เป็นอย่างดี (หรือเปล่า :P) ที่สำคัญคือทั้งบทมีแค่ 4 สูตร ฝึกทำโจทย์เยอะๆ ก็เก็บคะแนนได้เป็นกอบเป็นกำ ความยากระดับข้อสอบโรงเรียน อาจมียากพิเศษขึ้นมาสักข้อนึง

 

ชื่อว่าความน่าจะเป็น แต่จริงๆ แล้วมี 2 บท คือ ความน่าจะเป็น และ สถิติ แน่นอนว่าเป็นหัวข้อที่ออกข้อสอบเยอะที่สุด

  • สถิติ ออกตรงๆ เน้นใช้สูตรให้เป็น ความยากไม่เกินแบบฝึกหัดในโรงเรียน จำสูตรให้ได้และใช้ให้เป็น ค่ากลาง ควอร์ไทล์ เปอร์เซ็นไทล์ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน แผนภาพกล่อง ออกครบทุกเรื่องแน่นอน คำนวณอย่างรอบคอบนะครับ
  • ความน่าจะเป็น เนื้อหาเหมือน ม.ต้น ทุกอย่าง ในส่วนความน่าจะเป็นนั้นง่ายมาก แต่การหา n(E) กับ n(S) อาจต้องใช้ความรู้เรื่องอื่นด้วย

เมื่อดูจากเนื้อหาและความยากของข้อสอบแล้ว ต้องบอกว่าเวลาเฉลี่ยข้อละ 3 นาที นั้นเหลือเฟือครับ ไม่จำเป็นต้องเร่งเป็น speed test เหมือนคณิต 1 ใช้เวลาให้คุ้มค่า เก็บคะแนนให้ดีๆ ครับ

 

 

-----------*---*---*---*---*---*---*---*---*---*---*---*---*---*---*-----------

 

โดย อ.ปอม